เทคนิคเบื้องต้นสำหรับโคบาลมือใหม่ในการคัดเลือกโคเนื้อมาเลี้ยง ตอนที่ 1 เรียนรู้สักนิดก่อนคิดเลี้ยง

วันพฤหัสบดีที่ 05 มีนาคม 2015 เวลา 03:17 น. Ekkachai Boonchan วิถีชิวิตคาวบอย ศิลปะวัฒนธรรม อาวุธและเครื่องมือ - วิถีชีวิต,งานอาชีพ,ประเพณี Life & Traditions
พิมพ์
User Rating: / 0
แย่ดีที่สุด 

เทคนิคเบื้องต้นสำหรับโคบาลมือใหม่ในการคัดเลือกโคเนื้อมาเลี้ยง ตอนที่ 1 เรียนรู้สักนิด...ก่อนคิดเลี้ยงวัว

Ekkachai Boonchan February 28, 2015 at 12:09pm

กระแสการเลี้ยงโคเนื้อกำลังมาแรง วงการวัวครึกครื้น ตลาดนัดวัวคึกคัก ส่งผลให้เกิดผู้เลี้ยงหน้าใหม่เข้ามาโลดแล่นบนเส้นทางสายปศุสัตว์เพิ่มมาก ขึ้น ส่วนผู้เลี้ยงรายเก่าที่เลิกเลี้ยงไปช่วงระยะเวลาหนึ่งก็หวนกลับมาสัมผัส กลิ่นโคลนสาบโคกันอีกครั้ง ผมจึงอยากใคร่ขอนำเสนอบทความนี้ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจแก่ผู้ที่สนใจ มิได้มีเจตนาอื่นใดแอบแฝงแต่อย่างใด หวังเพียงอยากช่วยสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน ป้องกันการถูกหลอกย้อมโคขายให้กับมือใหม่ครับ

ผู้เขียนเป็น เพียงเด็กน้อยที่ยังด้อยประสบการณ์ หวังเพียงอยากจะนำเสนอสิ่งที่ได้เคยศึกษาล่ำเรียนและสัมผัสจากประสบการณ์อัน น้อยนิดมาแบ่งปันความรู้ แลกเปลี่ยนข้อมูลกับพี่น้องชาววัวเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และป้องกันการฉวยโอกาสจากผู้ไม่หวังดีในช่วงที่วัวมีราคาแพง อีกทั้งช่วยให้ผู้ซื้อได้ตัววัวที่ถูกใจและผู้ขายได้ราคาที่สมเหตุสมผล สุขใจทั้งผู้ให้ดีใจทั้งผู้รับ ผิดถูกประการใด ขออภัยมา ณ ที่นี้ครับผม ท่านใดเคยมีประสบการณ์อย่างไรกันบ้าง ขอเชิญมาแบ่งปันกันนะครับ อนึ่งเนื้อหาเกี่ยวกับโคเนื้อไม่ว่าจะมาจากแหล่งใดก็ตาม ต่างก็มีพื้นฐานที่คล้ายกัน ต่างกันเพียงรูปแบบการเรียบเรียง วิธีการนำเสนอ และความพึงพอใจของผู้เสพ แต่ต่างมีประโยชน์เหมือนกันครับผม

ปล. ขอขอบคุณเนื้อหาที่ดี ภาพประกอบที่สวยงาม จากครูบาอาจารย์และมิตรรักชาววัวทุกท่านทุกฟาร์มครับ


รู้เขารู้เรา ช่วยลดความเสี่ยง...!!!

 

 

การ เลี้ยงโคนั้นก็เหมือนกับการสร้างบ้าน ก่อนที่เราจะเริ่มปลูกบ้านสักหลังหนึ่ง เราก็ต้องถามใจตัวเองก่อนว่า เราชอบบ้านแบบไหน เช่น บ้านชั้นเดียว บ้าน 2 ชั้น ทาวน์เฮ้าส์ คอนโด ห้องแถว บ้านมือหนึ่ง หรือบ้านมือสอง เราชอบบ้านสไตล์อะไร เช่น เรือนไทย ยุโรป บ้านไม้ บ้านปูน หรือครึ่งปูนครึ่งไม้ ทำเลที่ตั้งที่ต้องการเป็นเช่นไร เช่น เมืองหลวง ชนบท ในเมือง นอกเมือง กลางทุ่ง ริมแม่น้ำ หรือบนภูเขา ระยะเวลาในการก่อสร้างจะกี่วัน กี่เดือน หรือกี่ปี ?

 

พอเรากำหนดเป้าหมายในอุดมคติสมดังปรารถนา แล้ว คราวนี้เราลองดึงวิมานในอากาศลงมาสร้างเค้าโครงดูซิว่า ในความเป็นจริงแล้วบ้านแบบไหนที่เหมาะสมกับเราและตัวเราเหมาะสมกับบ้านแบบ ไหน ตัวแปรที่จะชี้วัดได้ก็คือ "ความรู้ ความพร้อม และเงินทุน" ถ้าเราขาดความรู้ความเข้าใจที่ดี โอกาสเสี่ยงที่จะถูกโกงถูกหลอกก็จะมีสูง หรือถ้าเรายังไม่มีความพร้อมด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม อาจจะมีภาระที่ต้องดูแลในหลายๆด้าน ก็อาจทำให้ชักหน้าไม่ถึงหลัง เป็นหนี้เป็นสินและเป็นทุกข์ได้ สิ่งสำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องเงิน ควรปลูกเรือนให้พอดีกับตัวเราและครอบครัว เหมาะสมกับฐานะ แล้วเราก็จะกินอิ่มนอนหลับอย่างสบายใจ ไม่ต้องมาคอยกังวลใจหวาดระแวงว่าบ้านจะถล่ม จะถูกเวนคืนไล่ที่ หรือไฟแนนซ์จะมายึดเมื่อไร

การ เลี้ยงโคก็เช่นเดียวกันครับ แน่นอนว่าทุกท่านต้องมีแรงจูงใจมาจากความรักความชอบส่วนตัวมาเป็นอันดับ หนึ่ง แต่เราก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงด้วยว่าตัวเราเองนั้นมีศักยภาพมาก น้อยเพียงไร หลายท่านคงอยากจะได้โคคุณภาพดีมาเลี้ยงให้สมกับเม็ดเงินที่ลงทุนไป ถ้าได้มาแล้วไม่ตรงกับความต้องการ ไหนจะเสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา เสียทั้งความรู้สึก จนอาจทำให้เกิดความท้อและหมดกำลังใจในการเลี้ยงไปเลยก็ได้ เปรียบดั่งสำนวนไทยในแบบฉบับของผมเองที่ว่า “มีผัวพลาด มีเมียผิด คิดจนตัวตาย”

 

ตัวแปรที่มีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจคัดเลือกโคมาเลี้ยงก็คือ "ความชอบส่วนตัว กำลังทรัพย์ พื้นที่ในการเลี้ยง แหล่งอาหาร แรงงาน เวลา และตลาด" สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนี้จะทำให้เราสามารถกำหนดแนวทางการเลี้ยงได้ชัดเจน ยิ่งขึ้น ที่ร่ายยาวมานี้ก็เพื่ออยากให้มือใหม่ที่สนใจหรือว่าเพิ่งก้าวเข้ามาในวงการ โคได้มีการติดอาวุธทางปัญญา เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง เพื่อป้องกันการถูกหลอกย้อมโคขาย หรือกลอุบายเล่ห์เหลี่ยมอีกร้อยแปดพันเก้าที่ต้องพบเจออีกมากมายในอนาคต ด้วยความปรารถนาดี ดั่งสุภาษิตจีนที่ว่า “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง”



ก่อน ที่เราจะทราบถึงหลักในการคัดเลือกโคมาเลี้ยงว่ามีอะไรบ้างนั้น ผู้เขียนอยากนำเสนอเทคนิคเล็กน้อยให้ผู้อ่านได้ทราบว่าตัวเรามีความพร้อมและ ความเหมาะสมที่จะเลี้ยงโคเนื้อรูปแบบใดและระดับไหนเสียก่อน เพื่อช่วยให้เห็นภาพและตัดสินใจได้ง่ายขึ้นครับ

โคเนื้อกับยานพาหนะ ความเหมือนที่ไม่แตกต่าง

 

อาจารย์ ของผู้เขียนได้เคยให้แนวคิดง่ายๆ โดยการนำโคไปเปรียบเทียบกับยานพาหนะที่เราใช้เดินทางสัญจรตั้งแต่อดีตจนถึง ปัจจุบัน ท่านได้กล่าวไว้ว่า “ยี่ห้อของรถก็คือระดับพันธุกรรมและความ เหมาะสมในการนำไปใช้งาน ราคาของรถหมายถึงคุณภาพของโคพันธุ์นั้นๆ ความเร็วของรถก็เปรียบเสมือนอัตราการเจริญเติบโต” ซึ่งจะช่วยให้ชาวบ้านเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นและเข้าใจได้ง่ายขึ้นว่า ควรจะเลือกซื้อโคพันธุ์ใด เพศอะไร อายุเท่าไร ให้ตรงกับจุดประสงค์ตามความพร้อมของผู้เลี้ยงและเหมาะสมกับสถานการณ์ใน ปัจจุบัน ดังนี้

 

1.โคพื้นเมือง (โคขาวลำพูน, โคอีสาน, โคลาน และโคชน) = เกวียน

 

ขึ้น ชื่อว่าเป็นโคพื้นเมืองแล้ว ความทรหดอดทนไม่เป็นสองรองใครแน่นอน หากินเก่งเลี้ยงได้ทุกสภาพแวดล้อม แม้ว่าแหล่งอาหารจะไม่เพียงพอก็ยังสามารถให้ลูกได้ทุกปี ราคาไม่แพง ถึงจะไม่ค่อยได้รับการดูแลเอาใจใส่ก็สามารถอยู่ได้สบายๆ เอาตัวรอดเก่ง แต่รูปร่างอาจจะไม่ใหญ่โต และอัตราการเจริญเติบโตไม่ดีนัก ดั่งเกวียนที่ลุยได้ทุกเส้นทาง แม้ว่าหนทางข้างหน้าจะยากลำบากสักเพียงใด ไม่กินน้ำมัน การบำรุงรักษาก็ง่าย แต่จะใช้ระยะเวลาในการเดินทางนาน เหมาะสำหรับผู้ที่มีเงินทุนไม่มากนัก มีพื้นที่หรือแหล่งอาหารค่อนข้างจำกัด สามารถเพิ่มมูลค่าในรุ่นลูกหรือยกระดับฝูงได้โดยการผสมกับพ่อพันธุ์บรา ห์มัน, พ่อพันธุ์ฮินดูบราซิล, พ่อพันธุ์โคเมืองหนาว หรือพ่อพันธุ์เลือดผสม ที่ให้ลูกมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำ

 

2.โคลูกผสมเมืองร้อน (โคลูกผสมบราห์มัน หรือ โคลูกผสมฮินดูบราซิล) = รถอีแต๋น

 

เกิด จากแม่โคพื้นเมือง + พ่อพันธุ์บราห์มันหรือพ่อพันธุ์ฮินดูบราซิล เพื่อให้ได้รุ่นลูกที่ดีกว่าแม่(อภิชาตบุตร) มีรูปร่างและโครงสร้างที่ดีกว่าเดิม มีกล้ามเนื้อเพิ่มมากขึ้น หนังหนา ทนแดดทนฝน ทนโรคและแมลง เลี้ยงได้ทั้งขังคอกและปล่อยแปลง มีความต้องการอาหารมากขึ้นกว่าเดิมเพื่อใช้พัฒนาโครงสร้างร่างกายที่ใหญ่โต ขึ้นให้สมบูรณ์ ราคาปานกลาง ซื้อง่ายขายคล่อง หาซื้อได้ตามตลาดนัดทั่วไป ควรได้รับการดูแลเอาใจใส่บ้าง เช่น ทำวัคซีน ถ่ายพยาธิ ฉีดยาบำรุง เป็นต้น อัตราการเจริญเติบโตพอใช้ได้ เนื้อชำแหละส่งตลาดระดับกลางและระดับล่าง ดั่งรถอีแต๋นที่วิ่งได้ทั้งกลางทุ่งนา ถนนลูกรัง และบนถนนลาดยาง แต่ก็วิ่งได้ไม่เร็วนักตามกำลังแรงม้าที่มีอยู่ บรรทุกสิ่งของหนักๆได้ดี เดินทางโดยใช้น้ำมันโซล่า(ดีเซล) ต้องหมั่นตรวจสอบอุปกรณ์และเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องบ้าง เหมาะสำหรับผู้ที่พอมีทุนอยู่พอสมควร และต้องการเพิ่มมูลค่าผลผลิตในการขุนหรือปรับปรุงคุณภาพโคให้ดียิ่งขึ้น โดยอาจนำไปผสมกับพ่อพันธุ์บราห์มันหรือพ่อพันธุ์ฮินดูบราซิลเพื่อยกระดับสาย เลือดให้สูงขึ้น หรือผสมกับพ่อพันธุ์โคเมืองหนาว หรือพ่อพันธุ์เลือดผสมเพื่อผลิตโคขุนคุณภาพดีต่อไป

 

3.โค ลูกผสมเมืองหนาว หรือ โคพันธุ์แท้ที่เกิดจากโคเมืองร้อน + โคเมืองหนาว ตั้งแต่ 2 และ 3 สายเลือด (กำแพงแสน, ตาก, กบินทร์บุรี, แบรงกัส, ชาร์เบรย์, บีฟมาสเตอร์ และวากิว) = รถปิกอัพ

 

- เกิดจากแม่โคลูกผสมบราห์มันหรือแม่โคลูกผสมฮินดูบราซิล + พ่อพันธุ์โคเมืองหนาวพันธุ์แท้ (ชาร์โลเร่ส์ แองกัส และเบลเยี่ยนบลู) หรือพ่อพันธุ์โคลูกผสมเมืองหนาวที่มีเลือดสูงเกิน 50% ก็ได้ ลูกที่ได้จะมีจุดเด่นอยู่ที่รูปร่างโครงสร้างที่สมส่วน ลักษณะมัดกล้ามเนื้อ และคุณภาพซากที่ดียิ่งขึ้น ตอบสนองต่ออาหารข้นและอาหารหยาบภายใต้การดูแลจัดการที่เหมาะสมได้ดี แต่ก็ต้องได้รับอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวันทั้งด้านคุณภาพและ ปริมาณเช่นกัน จึงจะสามารถแสดงศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่ ราคาซื้อขายอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างดี ปัจจุบันเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก เนื่องจากเนื้อมีคุณภาพดี แต่ก็ยังมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ดั่งรถปิกอัพที่วิ่งในเมืองก็ได้ วิ่งในต่างจังหวัดก็ดี หรือจะวิ่งบนถนนลูกรังก็สบาย เสริมล้อโฟร์วีลก็ได้ ถ้าใช้บรรทุกสิ่งของก็เสริมแหนบให้แข็งแรง ใช้งานได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ในการนำไปใช้งานและยังสามารถติดแก๊สเพื่อลดต้นทุนได้

 

4.โคพันธุ์แท้ (อเมริกันบราห์มัน, ฮินดูบราซิล) = รถเบ๊นซ์

 


ขึ้น ชื่อว่าโคพันธุ์แท้อะไรๆ ก็ดูดีไปเสียหมดทุกอย่าง ทั้งรูปร่าง หน้าตา และโครงสร้างที่สวยงามสมส่วน หรือถ้าจะมองทางด้านพันธุกรรมก็อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ไม่ว่าจะเป็นอัตราการเจริญเติบโต น้ำหนักซาก และประสิทธิภาพการใช้อาหารตามมาตรฐานของแต่ละสายพันธุ์ เพราะว่าได้รับการพัฒนาสายพันธุ์มาเป็นเวลายาวนานหลายร้อยปี อีกทั้งยังมีการจัดงานประกวดตลอดทั้งปี จึงทำให้แต่ละฟาร์มได้มองเห็นจุดเด่นจุดด้อยของตนเองและได้นำคำแนะนำของ กรรมการมาปรับปรุงแก้ไขอยู่ตลอดเวลา จนได้พันธุกรรมระดับคุณภาพที่มาพร้อมกับราคาซื้อ-ขายที่สูงขึ้นตามไปด้วย ต้องพิถีพิถันหมั่นดูแลเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ การจัดการต้องดีเป็นพิเศษ ดั่งรถเบ๊นซ์ที่โดดเด่นดูดีทั้งภายนอกและภายใน มีหลายคลาสหลายรุ่น ใครเห็นใครก็ชอบ วิ่งได้เร็วมากบนถนนลาดยาง หรือถ้าให้วิ่งบนถนนลูกรังก็อาจจะช้าลงหน่อยแต่ก็ยังวิ่งได้ดีอยู่ เครื่องยนต์เบนซิน กินน้ำมันพอสมควร ควรได้รับการตรวจสอบสภาพอย่างสม่ำเสมอ อะไหล่มีราคาแพง เหมาะสำหรับผู้ที่มีกำลังทรัพย์สูง ต้องการร่นระยะเวลาในการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ให้เร็วขึ้น และมีเป้าหมายชัดเจนที่จะสร้างโคพันธุ์แท้ออกจำหน่าย สำหรับใช้เป็นต้นสายในการผลิตโคพื้นฐานต่อไป ได้ประโยชน์ทั้งสองทางคือ ตลาดเนื้อและตลาดสวยงาม

คง พอจะเห็นภาพรวมกันบ้างแล้วนะครับว่าตัวเราเหมาะที่จะนั่งรถประเภทไหน อย่าลืมว่ารถก็เหมือนบ้านที่มีทั้งเก่าและใหม่ มือหนึ่งและมือสอง ทางที่ดีต้องลองตรวจสภาพอย่างละเอียดถี่ถ้วนเสียก่อนถึงจะมั่นใจนำไปใช้งาน ได้ การตรวจสอบภายนอกคงจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะว่าสามารถมองเห็นได้อยู่แล้ว แต่การตรวจสอบภายในนี่สิเป็นเรื่องยากที่จะมองเห็น นอกเสียจากข้อมูลที่ได้รับมาผ่านทางเอกสารหรือคำบอกเล่า ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ประวัติ ประวัติการคลอด(ในกรณีที่โคไม่มีเขา) ปัญหาระบบสืบพันธุ์ การทำวัคซีน หรือโรคแท้งติดต่อ เป็นต้น ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ขายแต่ละราย

ในฟาร์ม ขนาดใหญ่มีชื่อเสียงหรือฟาร์มที่มีมาตรฐาน เราก็อาจมั่นใจได้เนื่องจากมีการจดบันทึกข้อมูลและทราบถึงแหล่งที่มาอย่าง ชัดเจน แต่ก็ไม่แน่เสมอไป บางทีก็อาจมีหลุดรอดออกมาบ้างซึ่งต้องระวังให้ดี พึงระลึกไว้เสมอว่าไม่มีของดีราคาถูกบนโลกใบนี้ นอกเสียจากมีความสนิทสนมคุ้นเคยถูกคอถูกใจเป็นการส่วนตัวก็อาจมีได้ ยิ่งถ้ามาจากแหล่งที่ไม่มีความน่าเชื่อถือหรือตามตลาดนัดด้วยแล้วยิ่งต้อง ระมัดระวังเป็นพิเศษ เจอคนดีก็โชคดีไปแต่ถ้าไปเจอพวกปากปราศรัยน้ำใจเชือดคอก็อาจน้ำตาตกในได้ ทางที่ดีควรจะมีผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่าที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้ คอยให้คำแนะนำปรึกษาจะดีที่สุดครับ

ใน กรณีที่เราตัดสินใจจะไปเลือกซื้อเลือกหาโคจากฟาร์มที่มีมาตรฐานนั้น ก็ขอให้ทำการศึกษาข้อมูลรายละเอียดของฟาร์มที่เราสนใจให้ดี เสพข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวในวงการให้หลากหลาย อย่ายึดติดอยู่เพียงแค่ที่ใดที่หนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ถ้ามีโอกาสให้เดินทางไปเยี่ยมชมตามฟาร์มต่างๆที่เราให้ความสนใจและขอความรู้ คำแนะนำให้มากเข้าไว้ เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้และบรรทัดฐานที่เป็นกลางให้กับตนเอง เพราะบางทีรูปภาพที่เราเห็นผ่านตามสื่อต่างๆอาจหลอกตาเราได้ การที่ได้ไปเห็นของจริงจะทำให้เราเห็นสภาพการเลี้ยงดูและความเป็นอยู่ที่แท้ จริง ซึ่งจะช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ข้อมูลประจำตัวโคดังกล่าวที่ควรทราบและจำเป็นต่อการนำมาใช้คัดเลือกโคตาม หลักวิชาการ มีดังนี้

1.พันธุ์ประวัติ (Pedigree)

- เมื่อเราเห็นลักษณะของโคจากภายนอกแล้ว หากเรายังมีความสงสัยบางประการอยู่ ก็สามารถอาศัยข้อมูลของพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ที่อยู่ในใบพันธุ์ประวัติมาตรวจสอบย้อนหลังได้ว่าเป็นลูกเต้าเหล่าใคร สายไหน สายดังกล่าวมีจุดเด่นจุดด้อยอะไรบ้าง เกิดจากการผสมแบบใด (การผสมเลือดชิด, การผสมในสายเลือด หรือการผสมข้ามสายเลือด) และยังสามารถนำลักษณะต่างๆ ที่ปรากฏไปเปรียบเทียบกับเครือญาติ เพื่อยืนยันความแม่นยำทางการถ่ายทอดพันธุกรรมได้อีกทางหนึ่ง

 

2.น้ำหนักแรกคลอด (Birth weight : BW)


- เป็นลักษณะที่มีความสำคัญในโคเนื้อ เพราะว่ามีค่าสัมพันธ์ทางบวกกับน้ำหนักหย่านม และน้ำหนักตัวเมื่ออายุ 1 ปี คือ โคที่มีน้ำหนักแรกคลอดสูงมักจะมีโครงสร้างใหญ่และโตเร็ว แต่จะมีปัญหาการคลอดยาก โดยเฉพาะแม่โคสาวท้องแรกที่กระดูกเชิงกรานยังขยายตัวออกได้ไม่เต็มที่ และลูกโคเพศผู้จะมีน้ำหนักมากกว่าลูกโคเพศเมียประมาณ 2 – 4 กิโลกรัม ดังนั้นในโคสาวหรือโคพันธุ์ที่มีโครงสร้างขนาดเล็ก ควรเลือกผสมกับพ่อพันธุ์ที่มีค่าน้ำหนักแรกคลอดต่ำ น้ำหนักแรกคลอดมีค่าอัตราทางพันธุกรรมสูงถึงประมาณ 40 %

 

3.น้ำหนักหย่านม (Weaning weight : WW)

 

- บ่งบอกถึงอัตราการเจริญเติบโตของลูกโคในช่วงหลังคลอด – หย่านม ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพการสร้างน้ำนม ความสามารถในการเลี้ยงลูกของแม่โค และการเอาตัวรอดของลูกโคได้เป็นอย่างดี เกณฑ์มาตรฐานของอายุเมื่อหย่านมจะอยู่ที่ 205 วัน โดยจะต้องคำนวณจากสัตว์ภายในฝูงเดียวกัน ได้รับอาหารชนิดเดียวกัน ซึ่งถูกเลี้ยงดูอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน น้ำหนักหย่านมมีค่าอัตราทางพันธุกรรมสูงถึง 30 % ซึ่งถือว่าสูงพอสมควร


น้ำหนักหย่านมที่ 205 วัน = [(น้ำหนักที่ชั่งได้จริง – น้ำหนักแรกคลอด) /อายุวันที่ชั่งน้ำหนัก] x 205 + น้ำหนักแรกคลอด

 

4. น้ำหนักเมื่ออายุ 1 ปี (Yearling weight : YW)


- เป็นการวัดศักยภาพการเจริญเติบโตของลูกโคหลังจากหย่านม จริงๆแล้วจะวัดตั้งแต่การเจริญเติบโตช่วงหลังหย่านม – ส่งโรงฆ่า แต่โดยทั่วไปจะใช้น้ำหนักเมื่ออายุ 1 ปี(365 วัน) เป็นตัวชี้วัดแทน ซึ่งมีค่าอัตราทางพันธุกรรมสูงถึง 40 %


น้ำหนักเมื่ออายุ 1 ปี = [(น้ำหนักที่ชั่งได้จริง – น้ำหนักหย่านม) /จำนวนวันหลังหย่านมถึงวันที่ชั่งน้ำหนัก] x 160 + น้ำหนักหย่านม

 

5.ความสามารถในการสร้างน้ำนม (Milking ability)


- ลักษณะดังกล่าวสามารถแสดงออกได้เฉพาะในเพศเมียเท่านั้น มีความสำคัญต่อการเพิ่มน้ำหนักตัวของลูกโคหลังคลอด และแสดงถึงความสามารถในการเลี้ยงลูกของแม่โค ยิ่งแม่โคมีน้ำนมมากเท่าใดก็จะทำให้ลูกโคมีน้ำหนักหย่านมที่ดีตามไปด้วย ในการประเมินคุณค่าทางพันธุกรรมความสามารถในการสร้างน้ำนมของพ่อพันธุ์ สามารถวัดได้จากน้ำหนักหลังหย่านมของลูกโคที่เกิดจากแม่โคซึ่งมีสายเลือดของ พ่อพันธุ์ที่ต้องการประเมิน

 

6.ลักษณะซาก (Carcass quality)


- ซึ่งรวมถึงคุณภาพซาก (Quality grade) และคุณภาพเนื้อ (Yield grade) เป็นลักษณะที่ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูง ประกอบด้วยน้ำหนักซาก(Carcass weight) พื้นที่หน้าตัดเนื้อสัน(Ribeye Area :REA) ความหนาไขมันสันหลัง(Fat) ไขมันแทรกในกล้ามเนื้อ(Marbling) และความเหนียวของเนื้อ(Tenderness) โดยลักษณะซากไม่สามารถวัดได้จากพ่อพันธุ์ตัวนั้นๆ ต้องอาศัยข้อมูลของลูกที่ขุนส่งโรงฆ่ามาตัดสินแทน หรือใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์ตรวจวัดในขณะที่โคยังมีชีวิตอยู่ก็ได้ ลักษณะซากมีค่าอัตราทางพันธุกรรมสูงถึงประมาณ 40 %

 

7.ประสิทธิภาพการใช้อาหาร (Feed Conversion Ratio : FCR)


- คือ ปริมาณอาหารที่โคกินเข้าไป(กิโลกรัม) เพื่อทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 1 กิโลกรัม โคที่มีอัตราการเจริญเติบโตดีส่วนใหญ่จะมีประสิทธิภาพการใช้อาหารที่ดีตามไป ด้วย เนื่องจากการทดสอบประสิทธิภาพการใช้อาหารต้องลงทุนค่อนข้างสูง จึงมีพ่อพันธุ์ไม่กี่ตัวที่มีข้อมูลดังกล่าว ส่วนใหญ่จะใช้ข้อมูลจากน้ำหนักเมื่ออายุ 1 ปีแทน ประสิทธิภาพการใช้อาหารมีค่าอัตราทางพันธุกรรมสูงถึง 45 %

 

8.ลักษณะที่มองเห็นจากภายนอก


- โครงสร้าง, รูปร่างหน้าตา, ความหนา ความยาว ความลึกของลำตัว, กระดูก, ซี่โครง, มัดกล้ามเนื้อ, แข้งขา, กีบเท้า, โคนหาง, นิสัยอารมณ์, ลักษณะประจำเพศ และลักษณะประจำพันธุ์ ลักษณะทั้งหมดนี้ล้วนแต่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจเบื้องต้นในการ คัดเลือกโคมาเลี้ยง ลักษณะภายนอกมีค่าอัตราพันธุกรรมประมาณ 30 – 60 %

 

 

เมื่อ เราทราบถึงลักษณะทางพันธุกรรมหรือลักษณะภายในบางประการที่มองไม่เห็นด้วยตา เปล่า แต่ทราบได้จากการจดบันทึกข้อมูลซึ่งมีความจำเป็นต่อการคัดเลือกโคแล้ว คราวนี้เราลองมาสำรวจลักษณะภายนอกที่ปรากฏกันดูบ้างซิว่ามีความสำคัญอะไร บ้าง แต่ที่แน่ๆลักษณะภายนอกจะมีความสำคัญต่อการไปเลือกซื้อโคในสถานที่ที่ไม่มี การจดบันทึกข้อมูลหรือตามตลาดนัดเป็นอย่างมาก เนื่องจากถ้าเราดูตัวโคไม่เป็นหรืออ่านตัวโคไม่ขาดก็อาจถูกหลอกให้เจ็บใจเอา ได้ง่ายๆนะครับ

By.....COWBOY 62

จะมีสักกี่ครุยที่ลุยโคลน...Stockmanship